วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคลิ้นหัวใจรั่ว

โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคที่เป็นภัยเงียบสำหรับคนเรา ที่บอกว่าเป็นภัยเงียบนั่นเป็นเพราะว่า ลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อย จะไม่แสดงอาการใดๆ เลย ในระยะแรก จนกว่าหัวใจไม่สามารถทนรับกับ ปริมาณเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เช่น หัวใจเต้นไว หอบ เหนื่อยง่าย ใครที่มีอาการดังกล่าว จึงควรหาเวลาไปตรวจสุขภาพร่างกาย ประจำปีบ้าง เพื่อจะได้รู้เท่ากันโรค


ลิ้นหัวใจก็คือส่วนหนึ่งของหัวใจคนเรา ทำหน้าที่เสมือนประตู ที่กั้นไม่ให้เลือดที่อยู่ในห้องหัวใจทั้ง 4 ห้องไหลย้อนกลับ ในขณะที่หัวใจกำลังทำการบีบตัว ฉะนั้นแล้วลิ้นหัวใจ จึงทำหน้าที่คล้ายกับวาล์ว คอยปิด-เปิด อยู่ระหว่างห้องหัวใจของเราตั้งแต่เกิด ซึ่งลิ้นหัวใจแบ่งอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ
1.ไตรคัสปิด (Tricuspid) อยู่ระหว่าหัวใจห้องขวาบนและล่าง
2.พูลโมนารี่ (Pulmonary) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดแดงที่ไปปอด
3.ไมตรัล (Mitral) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง
4.เอออร์ติค (Aortic) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกาย

ลักษณะของลิ้นหัวใจประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อเป็นแผ่น บางหรือหนา และจำนวนแผ่นเนื้อเยื่อจะขึ้นกับตำแหน่งของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจไมทรัล ซึ่งเป็นลิ้นที่มีความสำคัญมากลิ้นหนึ่งประกอบไปด้วยแผ่น (leaflet) 2 แผ่น เป็นรูปคล้ายอานม้า หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนของลิ้นเอออร์ติค เป็นจะแผ่นรูปเสี้ยงวงกลมบางๆ จำนวน 3 แผ่น เป็นต้น แผ่นเหล่านี้ดูเหมือนอ่อนแอ ขาดง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วมีความแข็งแรงมาก

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว
1.ลิ้นหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
2.ลิ้นหัวใจเสื่อมตามวัย
3.โรคหัวใจรูห์มาติค
4.ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ

การรักษา
อย่างที่กล่าวว่าลิ้นหัวใจของคนเราก็เปรียบเสมือนวาล์ว ที่คอยปิด-เปิด หากทำงานผิดปกติ ไม่สามารถปิด หรือเปิดได้ตามปกติแล้ว จะแก้ไขด้วยการเปลี่ยน หรือหยอดน้ำมันลงไป คงไม่ง่ายดายนัก เพราะหากลิ้นหัวใจเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว แพทย์ต้องทำการวินิจฉัยดูก่อนว่า ลิ้นหัวใจเสียขนาดไหน และจะต้องติดตามดูอาการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมว่าควรจะผ่าตัดซ่อมแซม หรือจะผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว
หากลิ้นหัวใจรั่วไม่มากก็สามารถมีกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ส่วนถ้ารั่วมาก มักจะมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งก็ถูกจำกัดกิจกรรมต่างๆ ไปโดยปริยาย หัวใจท่านอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นท่านต้องทะนุถนอมหัวใจท่านให้มากๆ ไม่ทำร้ายหัวใจด้วย อาหารเค็ม บุหรี่ อาหาร ไขมันสูง เหล้า-เบียร์-ไวน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแย่ลง

สิ่งสำคัญประการหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ต้องระวังการติดเชื้อ ดังนั้นหากจะทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือ ทำผ่าตัดใดๆ ก็ต้องบอกแพทย์ให้ทราบด้วย เพื่อให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อน

หากท่านมีปัญหาสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ หรือ มีลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ไม่เคยตรวจสุขภาพเลย (เพราะคิดว่าแข็งแรง ไม่มีอาการ) อยากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ก่อนที่จะสายเกินแก้


ศูนย์หัวใจพญาไท โรงพยาบาลพญาไท โทร.1772
ขอบคุณภาพจาก www.cbc.ca
http://www.phyathai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น