วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สิบเอ็ดคำถามเรื่อง HPV

มีคนไข้สงสัยผลการตรวจการตรวจภายใน จึงส่งผลการตรวจมาให้ช่วยอธิบาย

คุณหมอตอบ

1. ผลการตรวจเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นอ่านผลให้ฟังก่อนนะ ซึ่งแบ่งเป็นสองเรื่อง
1.1 ผลตรวจ HPV-HC II ได้ผลบวก แปลว่ามีเชื้อ HPV ชนิดที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่ในตัว แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นตัวไหน เพราะมันมีหลายตัว (16, 18) ถ้าจะให้รู้แน่ว่ามีตัวไหนบ้าง ครั้งหน้าเวลาตรวจภายในให้บอกสะเป๊กไปชัดๆว่าให้ตรวจ HPV แบบ PCR-genotype เสียเงินพอๆกัน แต่ได้ข้อมูลมากว่า คือทำให้เรารู้ว่าเชื้อที่มีอยู่ในตัวนั้นเป็น type ไหนบ้าง ชนิดที่พอจะใช้วัคซีนป้องกันได้ เรามีหมดแล้วหรือยัง ถ้ามีหมดแล้วก็ไม่ต้องไปฉีดวัคซีน เพราะว่า..สายไปเสียแล้ว แต่ถ้าบาง type ที่วัคซีนป้องกันได้ (6, 11, 16, 18)เรายังไม่ได้ติดมา การฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ก็มีประโยชน์

1.2 ผลการตรวจ Cytology (เซลมะเร็ง) ได้ผลว่ามีแต่การอักเสบ ไม่มีเซลมะเร็ง ถ้าเทียบระบบอ่านเบเทสด้าก็เรียกว่าเป็น NILM (negative for intraepithelial lesion) แปลไทยเป็นไทยว่าไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูก ยังไม่ได้ทำท่าว่าจะเป็นด้วย

2. เมื่อผลตรวจออกมาเป็นเช่นนี้แล้วเป็นอันตรายมากไหม
ตอบว่ายังไม่อันตรายครับ

3. มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากน้อยเพียงใด
ตอบว่าไม่ทราบครับ ทราบแต่ว่ามีโอกาสเป็นมากกว่าคนที่ไม่มี HPV เพราะปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าคนที่ตรวจเซลมะเร็งอยู่ในระดับ NILM แต่ตรวจ HPV ได้ผลบวก จะมีโอกาสเป็นมะเร็งกี่เปอร์เซ็นต์ มีข้อมูลแต่เพียงว่าถ้าตรวจพบเซลมะเร็งอยู่ในระดับอาจเป็นมะเร็ง (ASC-US หรือ atypical squamous cell of undetermined significance) ด้วย ร่วมกับตรวจ HPV ได้ผลบวกด้วย จะมีโอกาสเป็นมะเร็ง 13% แต่นั่นไม่ใช่กรณีของคุณ เพราะคุณเป็นระยะ NILM ไม่ใช่ระยะ ASC-US

4. แล้วในระหว่างที่มีเชื้อ HPV นั้นเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับแฟนใช่ไหม
ตอบว่า..ใช่ครับ

5. การที่แฟนเคยเที่ยว ญ บริการมาถึงแม้จะสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก็ติดเชื้อ HPV ได้ใช่ไหม
ตอบว่าใช่ครับ เชื้อ HPV ติดต่อจากผิวหนังสู่ผิวหนัง ส่วนที่ไม่ได้ครอบโดยถุงยางก็รับเชื้อมาได้ ถุงยางอนามัยจึงป้องกันได้ประมาณ 70% ไม่ใช่ 100%

6. แฟนไม่ได้เที่ยว ญ บริการมานานกว่า 8 ปีแล้ว ดิฉันยังจะติดเชื้อได้หรือ
ตอบว่าเป็นไปได้ เพราะอาจจะติดเชื้อกันมาตั้งแต่หลายปีมาแล้ว แม้ว่า 91% ของผู้ติดเชื้อจะกำจัดเชื้อได้หมดด้วยตนเองได้ในสองปี แต่ก็ยังมีอีกประมาณ 9% ที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมด ต้องคงอยู่ในตัวต่อไปได้นาน ไม่รู้จะอีกนานกี่ปี เรียกง่ายๆว่าเชื้อดื้อ หรือกลายเป็นพาหะ

7. เมื่อพบเชื้อ HPV แล้วการดูแลตัวเองควรทำอย่างไร
ต้องยกเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับแฟนเลยไหม ตอบว่าไม่จำเป็นต้องถึงขั้น No Sex ครับ เพราะไม่มีหลักฐานใดๆบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้ร่างกายเคลียร์เชื้อได้ช้าลง ส่วนที่กลัวว่าจะเอาเชื้อไปติดแฟนนั้นไม่ต้องกลัว เขามีเชื้อนี้อยู่แล้ว หรือไม่ก็มีภูมิคุ้มกันแล้ว เพราะเขาเองเป็นคนเอาเชื้อนี้มาปล่อยให้เรา

8. สมมุติว่าตัวเองดูแลตนเองจนไม่มีเชื้อ HPV แล้วนั้นจะทราบได้อย่างไรว่าแฟนยังเป็นพาหะอีก ดิฉันก็จะกลับไปติดเชื้อนั้นอีกจากแฟนได้หรือไม่
ตอบว่าหากร่างกายของเราเคลียร์เชื้อได้จริง แสดงว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อนั้นได้แล้ว จะไม่ติดเชื้อนั้นอีกครับ แม้ว่าจะได้รับเชื้อซ้ำก็ตาม

9. สำหรับผู้ชาย มีอันตรายไหม
มีวิธีรักษาหรือไม่ ตอบว่า HPV ทำให้ผู้ชายป่วยเป็นหงอนไก่ได้ และยังทำให้เป็นมะเร็งอวัยวะเพศ (penis) และมะเร็งทวารหนักได้เช่นกัน การรักษาจะต้องรอให้เป็นก่อน จึงจะรักษาด้วยวิธีจี้หรือตัดออก

10. มีวิธีตรวจคัดกรอง HPV ในผู้ชายไหม
ตอบว่า ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองเชื้อ HPV ในผู้ชาย แต่ที่อเมริกามีการทำ anal Pap test หมายความว่าเอาผู้ชายรักร่วมเพศไปตรวจทวารหนักคล้ายกับการตรวจภายของในผู้หญิง ในบ้านเราเท่าที่ผมทราบยังไม่มีใครทำกัน

11. ฉีดวัคซีนป้องกันให้ผู้ชายได้ไหม
ตอบว่า ฉีดได้ครับ FDA เพิ่งอนุมัติให้ฉีดวัคซีน HPV ในผู้ชายได้เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง ถ้าฉีดอย่างน้อยในเชิงทฤษฏีก็จะมีประโยชน์ในการป้องกันหงอนไก่ แต่ข้อมูลวัคซีนในผู้ชายยังมีน้อยมาก ยังแนะนำอะไรเป็นตุเป็นตะไม่ได้ตอนนี้


นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชอบรองเท้าส้นสูงมาก มีผลเสียต่อสุขภาพมากไหม

เป็นคนรูปร่างไม่สูง (155 ซม.) ต้องใส่รองเท้าส้นสูงมากๆจึงจะมีความมั่นใจ แต่ก็มีคนทักว่าใส่รองเท้าส้นสูงแล้วจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากถามว่าผลของการใช้รองเท้าส้นสูงต่อสุขภาพมีมากเพียงใด???

นุช


ตอบครับ

ยังไม่เคยมีรายงานการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบนะครับ ว่าระหว่างคนใส่ส้นสูงกับคนไม่ใส่ สุขภาพของเท้า เข่า และหลังใครจะดีไม่ดีกว่ากันอย่างไร เข้าใจว่าคงไม่มีผู้หญิงยอมให้สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มไม่ให้ใส่ส้นสูงนะครับ งานวิจัยนี้จึงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์มีการคาดเดาจากหลักท่าร่างกลไกการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ ว่าการใส่รองเท้าส้นสูงน่าจะมีผลเสีย เท่าที่ตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์ที่ผมพอรวบรวมได้มีดังนี้

1. การสวมรองเท้าส้นสูงต้องอยู่ในท่าเหยียดฝ่าเท้า (plantarflex) ตลอดเวลา ทำให้น้ำหนักไปตกหน้กอยู่ที่ฝ่าเท้าส่วนหน้า ร่างกายต้องปรับไปใช้ท่าแบบย่องเบา โดยโดยแอ่นพุงไปข้างหน้าและหงายหลังส่วนบนมากขึ้นเพื่อรักษาดุล ซึ่งไม่ใช่ท่าร่างตามปกติ ถ้าต้องอยู่ในท่าแบบนี้เป็นประจำก็ทำให้ปวดหลังได้

2. เวลาเดินด้วยรองเท้าส้นสูง เท้าหลังจะออกแรงถีบตัวได้น้อย ทำให้กล้ามเนื้อเข่าต้องทำหน้าที่แทนมากขึ้น นอกจากนี้เวลาเดินต้องเดินเหมือนกับเดินกายกรรมบนขอนไม้ ข้อเท้าถูกบีบให้อยู่ในท่าแบะออก (supinate) กระดูกหน้าแข้ง (tibia) จะหมุนบิดเข้าใน (varus) ทำให้มีแรงกดที่ด้านในของผิวข้อเข่าซึ่งเป็นจุดเกิดเข่าอักเสบ (OA) ง่าย นอกจากนี้รองเท้าส้นสูงยังเพิ่มระยะระหว่างหัวเข่ากับพื้น ทำให้เกิดแรงกระทำ (torque) ที่หัวเข่ามากขึ้น จึงน่าจะทำให้เข่าเสื่อมเร็วได้

3. การอยู่ในท่าเขย่งเท้านานๆทำให้กล้ามเนื้อน่อง (gastrocnemius) และเอ็นร้อยหวาย (achilles tendon) หดสั้น ทำให้เกิดแรงดึงของเอ็นร้อยหวายต่อกระดูกส้นเท้า (cacaneus) น่าจะเป็นต้นเหตุนำไปสู่ภาวะเอ็นอักเสบเรื้อรัง (insertional Achilles tendinitis)

4. การเดินแบบเขย่งทำให้น้ำหนักย้ายไปกดที่ฝ่าเท้าส่วนหน้า ยิ่งส้นสูง ยิ่งกดมาก ถ้าส้นสูง 3 ¼ นิ้ว แรงกดจะเพิ่มขึ้น 76% ทำเกิดตาปลา (bunion) ขึ้นที่ฝ่าเท้าส่วนหน้าและหัวแม่เท้า ทำให้เจ็บ

5. รูปทรงของรองเท้าที่บีบปลายทำให้นิ้วเท้าเบียดซ้อนกัน มีการบาดเจ็บของผิวหนังเป็นตุ่มน้ำพองหรือเป็นไตแข็งได้ง่ายเมื่อใช้รองเท้าไปนานเข้าหรือเมื่ออายุมากขึ้น

ดังนั้น ถ้ามองว่าคนเราควรการถนอมรักษาการใช้งานอวัยวะร่างกายให้อยู่ในท่าใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด ก็แนะนำว่าควรสวมรองเท้าส้นสูงเฉพาะเวลาจำเป็น และเมื่อสวมก็ไม่ควรสวมรองเท้าที่ส้นสูงเกินไป เช่นส้นสูงประมาณ 1 ½ นิ้วก็น่าจะถือว่าโอเค.แล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Ebbeling CJ, Hamill J, Crussemeyer JA. Lower extremity mechanics and energy cost of walking in high-heeled shoes. J Orthop Sports Phys Ther. 1994 Apr;19(4):190-6.
2. Esenyel M, Walsh K, Walden JG, Gitter A. Kinetics of high-heeled gait. J Am Podiatr Med Assoc. 2003 Jan-Feb;93(1):27-32.
3. Kerrigan DC, Johansson JL, Bryant MG, Boxer JA, Della Croce U, Riley PO. Moderate-heeled shoes and knee joint torques relevant to the development and progression of knee osteoarthritis. Arch Phys Med Rehabil. 2005 May;86(5):871-5.
4. Kerrigan DC, Todd MK, Riley PO. Knee osteoarthritis and high-heeled shoes. Lancet. 1998 May 9;351(9113):1399-401.
5. Opila KA, Wagner SS, Schiowitz S, Chen J. Postural alignment in barefoot and high-heeled stance. Spine. 1988 May;13(5):542-7.

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปวดศีรษะอย่างไร...ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

โอ๊ย..! ปวดหัวจังเลยยย...

ปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยเกือบทุกคน ซึ่งผู้ที่มีอาการมักจะกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรง เช่น เนื้องอกในสมอง หรือ เส้นเลือดผิดปกติ ซึ่งต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ส่วนใหญ่ ผู้ที่ปวดหัวก็มักจะไม่ได้มีโรคร้ายดังกล่าว การที่จะรู้ว่าการปวดศีรษะขนาดไหนเป็นการปวดศีรษะแบบธรรมดาๆ ไม่ร้ายแรง หรือปวดศีรษะขนาดไหนเป็นการปวดที่ผิดปกติ และอาจเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรง มีข้อสังเกตได้ไม่ยาก ที่พบบ่อยในคนวัยทำงานคือ ไมเกรน ซึ่งมักมีอาการปวดตุ๊บๆ ครึ่งซีก แถวขมับ เบ้าตา ด้านข้าง หรือ ท้ายทอยบางคนมีคลื่นไส้ และอาเจียน
อาการปวดศีรษะแบบไม่ร้ายแรง

การปวดศีรษะแบบไม่ร้ายแรงมีหลายชนิดที่พบบ่อยในคนวัยทำงานคือ ไมเกรน ซึ่งมักมีอาการปวดตุ๊บๆ ครึ่งซีก แถวขมับ เบ้าตา ด้านข้าง หรือท้ายทอย บางคนมีคลื่นไส้และอาเจียนได้ อาการปวดย้ายข้างได้แต่มักเป็นข้างหนึ่งบ่อยกว่าอีกข้าง บางครั้งก็ปวด สองข้างได้ บางคนมีอาการนำก่อนปวดศีรษะที่เรียกว่า ออรา เช่นเห็นแสงระยิบระยับไฟกระพริบ เห็นเส้นหยักขยายขึ้น ความรุนแรงของการปวดก็ต่างไปในแต่ละคน แต่ผู้ป่วยมักจะอยากนอนพัก หรืออยู่เงียบๆ จะดีกว่า แต่ละคน ตอบสนองต่อยาไม่เหมือนกัน และยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน และที่สำคัญการใช้ยาผิดวิธีจะเกิดการติดยาและไม่หายปวดหรือปวดมากขึ้นได้

ข้อแนะนำ
ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยากินเองและถึงแม้ว่าโรคไมเกรนจะไม่ก่อให้เกิดความพิการหรือมีผลต่อร่างกาย แต่ก็ไม่หายขาด บางรายอาจดีขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น บางรายก็เป็นไปตลอดดังนั้นการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น และการปรับยาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

วิธีสังเกตอาการปวดศีรษะที่ไม่ใช่ธรรมดาๆ
- ถ้าปวดศีรษะมากๆ เป็นครั้งแรกในคนอายุมากกว่าสี่สิบปีก็ต้องหาสาเหตุ เพราะถ้าปวดไมเกรน (ปวดมากๆ) มักมีประวัติเริ่มปวดตั้งแต่อายุน้อยกว่านี้
- ปวดทันทีและรุนแรงมาก บางคนบอกว่ารุนแรงที่สุดในชีวิตมักสงสัยเส้นเลือดแดงแตก
- ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีช่วงหายปวด หรือ เบาลงเลย
- ปวดจนนอนไม่หลับหรือจนต้องตื่นมาปวดกลางคืน
- ตื่นเช้ามาพร้อมกับความปวดปวดหัวมาก พร้อมกับมีไข้ หรือ
- อาการทางสมองร่วมด้วยถ้าเคยมีอาการปวดหัวเรื้อรังแต่ไม่อันตราย (เช่น ไมเกรน) มาก่อน แต่ตอนหลังลักษณะอาการปวดเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่หายสนิท หรือเพิ่มมากขึ้นให้ระวังมีโรคอื่นเพิ่มมาทีหลัง
- มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่นชัก อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก เดินเซ ตามัวลงหรือมองไม่เห็นด้านใดด้านหนึ่ง และอื่นๆ
- เคยมีอุบัติเหตุทางศีรษะมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสูงอายุ จะพบเลือดค่อยๆคั่งในสมองได้อย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะแสดงอาการชัดเจน
- ไอ จาม หรือ เปลี่ยนท่าทางแล้วปวดศีรษะมาก
- มีอาการทางฮอร์โมนร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนขาดหายไปโดยไม่ได้ตั้งครรภ์
- ปวดข้างเดียวตลอดไม่เคยย้ายข้างเลยเพราะถ้าเป็นไมเกรนมักจะย้ายข้างได้มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง โรคเอดส์
- คนที่เคยมีเส้นเลือดดำอุดตันที่ขาหรือที่อื่นๆประวัติครอบครัวมีเส้นเลือดดำอุดตัน dbo ยาคุม หรือมีโรคมะเร็ง จะมีโอกาสเกิดเส้นเลือดดำอุดตันทั้งในและนอกสมองได้แต่ก็พบไม่บ่อย


สัญญาณอันตราย!!..ที่ไม่ควรมองข้าม..
คุณมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่?

คุณปวดหัวอยู่ประจำ แต่ครั้งนี้ปวดมากกว่าทุกครั้ง หรือไม่?

คุณไม่เคยปวดหัวมาก่อน อยู่ก็มาปวดหัวมาก หรือไม่?

คุณปวดหัวร่วมกับมีอาการทางสายตาด้วย หรือไม่?

คุณปวดหัวร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือไม่?

คุณปวดหัวร่วมกับง่วงนอนหรือซึมมึนงงผิดสังเกต หรือไม่?

หากคุณพบว่ามีอาการใดอาการหนึ่ง อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคสำคัญ
ดังนั้น คุณควรพบและปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยละเอียด