วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เลือกอาหาร...พิชิตโรคอ้วน

การลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนนั้นไม่ยาก ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน การรู้จักวิธีการเลือกอาการการกินให้มากขึ้น


กินอาหารสมดุล ควบคุมสัดส่วนและปริมาณอาหารแต่ละกลุ่มให้พอเหมาะในแต่ละวัน
วัยรุ่นหญิง-ชาย อายุ 14-25 ปี ควรรับปริมาณวันละ 2,000 กิโลแคลอรี
วัยทำงานอายุ 25-60 ปี ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรรับปริมาณวันละ 1,600 กิโลแคลอรี
หญิง-ชายที่ใช้พลังงานมาก เช่น นักกีฬา เกษตรกร ควรรับปริมาณวันละ 2,400 กิโลแคลอรี

ควรรู้จักเลือกอาหารต่างๆ ในแต่ละวันตามนี้

ข้าว 1 จานนั้นให้พลังงานประมาณ 250 กิโลแคลอรี (ประมาณ 2 ทัพพีครึ่ง) ถ้าลดข้าวมื้อละ 1 ทัพพีใน 1 วัน สามารถลดพลังงานได้ถึง 300 กิโลแคลอรี

ผลไม้ ควรเลือกที่ให้พลังงานต่ำ เช่น ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง แคตาลูป มะละกอ แตงโม สาลี่ แอปเปิล ดีกว่าผลไม้ที่หวานจัดให้พลังงานสูง เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ มะขามหวาน

ผัก ควรเลือกกินให้มากๆ เพราะให้พลังงานน้อย แต่ได้คุณค่าสารอาหารมาก มีเส้นใยอาหารมาก ผักบางชนิดทำให้อิ่มนาน แต่พลังงานนิดเดียว เหมาะมากสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก

เนื้อสัตว์ เลือกกินปลา ไข่ขาว กุ้ง ปู เนื้อไก่ ดีกว่าเลือกกินไข่เจียว ไก่ทอด หมูกรอบ เครื่องในสัตว์

กะทิ/น้ำมัน น้ำมัน 1 ช้อนชา ให้พลังงานสูงถึง 45 กิโลแคลอรี ถ้าประกอบอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบ ตุ๋น ยำ จะช่วยลดพลังงานจากการใช้น้ำมันปรุงได้มากทีเดียว อาหารทอดใช้น้ำมันอย่างน้อย 2 ช้อนโต๊ะ นั่นเกือบ 300 กิโลแคลอรี กะทิ 1 ถ้วยแกง จะมีหัวกะทิ 1 ช้อนโต๊ะ พลังงานเท่ากับไขมัน 2 ช้อนชา ถ้าเลือกกินแกงส้ม ต้มยำ แทนแกงกะทิ ก็ลดพลังงานได้กว่า 100 กิโลแคลอรี

เครื่องดื่ม น้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่เรียกน้ำหนักได้มากทีเดียว เพราะ 1 กระป๋องให้พลังงานถึง 240 กิโลแคลอรี

อาหารว่าง ไม่ควรกินบ่อย เพราะส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล ไขมัน เนย เช่น คุ้กกี้ ช็อกโกแลต มันฝรั่งทอด โรตี ทองหยอด ขนมขบเคี้ยว จะได้พลังงานไม่น้อยกว่า 200 กิโลแคลอรี ถ้างดไม่ได้ให้เลือกผลไม้ชนิดที่ไม่หวานแทน จะได้พลังงานต่ำลง เพิ่มวิตามินและเกลือแร่ด้วย

รู้อย่างนี้แล้ว หันมาเลือกอาหารที่มีประโยชน์ วันละนิด ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมทีละน้อย ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะไม่ถามหา โรคอ้วนลงพุง ก็ไม่มีทางมาคุกคาม

ขอบคุณข้อมูลจากนิตยสาร healthToday ฉบับที่ 104
http://www.phyathai.com/

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อาการเจ็บแน่นหน้าอก

อาการเจ็บแน่นหน้าอก
อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่แสดงว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina) เป็นอาการที่แสดงว่ามีเลือดแดงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม

ลักษณะของอาการ
- เจ็บแน่นหน้าอกแบบหนักๆ เหมือนถูกกดทับหรือบีบรัก หรือรู้สึกอึดอัดหรือแสบร้อนบริเวณหน้าอก อาจร้าวไปที่ไหล่ซ้าย คอ หรือ แขนซ้าย หรือรู้สึกหายใจไม่สะดวกร่วมด้วย อาการจะเกิดขึ้น
และถึงจุดที่เป็นมากที่สุดในเวลาเพียงไม่กี่นาที มักจะถูกกระตุ้นให้เกิดอาการด้วยการออกแรงหรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น โกรธ เครียด
- ถ้าได้อมยาหรือพ่นยาขยายหลอดเลือดหัวใจใต้ลิ้นแล้วอาการดังกล่าวจะทุเลาลง

สาเหตุที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ
- หลอดเลือดที่ไม่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ หรืออุดตันหลอดเลือดที่ไม่เลี้ยงกล้ามเนื้อ
- หัวใจหดเกร็งตัว
- โรคของลิ้นหัวใจบางชนิด
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
- ภาวะโลหิตจางรุนแรง ธัยรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ

อาการเหล่านี้มักไม่ใช่อาการเจ็บหน้าอกที่แสดงว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina)
- เจ็บแบบเสียดๆ หรือคล้ายมีของแหลมทิ่มแทง
- หายใจเข้าออก ไอ เคลื่อนไหวร่างกาย หรือยกแขนแล้วเจ็บมากขึ้น
- เจ็บเป็นช่วงเวลาสั้นมากๆ เป็นวินาที หรือเจ็บติดต่อกันนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน
- เจ็บร้าวลงมาถึงบริเวณสะโพกหรือขา

สาเหตุอื่นๆ ของอาการเจ็บแน่นหน้าอก
- เยื้อหุ้มหัวใจหรือเยื้อหุ้มปอดอักเสบ
- หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกฉีกขาด
- หลอดเลือดดำจากหัวใจไปสู่ปอดอุดตัน
- ปอดแตก ทำให้มีลมในช่องเยื้อหุ้มปอด
- แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร หรือถุงน้ำดี/ตับอ่อนอักเสบ
- กล้ามเนื้อหรือกระดูกอ่อนบริเวณทรวงอกอักเสบ

การวินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บแน่นหน้าอก อาศัยการซักประวัติอย่างละเอียดและตรวจร่างกายเพื่อแยกประเภทของอาการว่าน่าจะมีแหล่งที่มาของอาการเจ็บจากอวัยวะส่วนใด หลังจากนั้นอาจต้องใช้การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือตรวจคลื่นหัวใจขณะเดินสายพาน หรือทดลองให้ยา เช่น นาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ แล้วดูการตอบสนองต่อยาว่าผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่หลังการให้การรักษา

โรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกทุกรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ มักมีโรคประจำตัวที่เป็นความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือผู้ที่สูบบุหรี่ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในขณะที่มีอาการเพื่อหาสาเหตุและให้การวินิจฉัย หากอาการเจ็บหน้าอกดังกล่าวมีสาเหตุจากโรคที่รุนแรง โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบ แพทย์จะได้เร่งให้การรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อลดอัตรการเสียชีวิตและทุพลภาพที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว


ศูนย์หัวใจพญาไท โรงพยาบาลพญาไท (Phyathai Heart Center)
Call Center 1772

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคลิ้นหัวใจรั่ว

โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคที่เป็นภัยเงียบสำหรับคนเรา ที่บอกว่าเป็นภัยเงียบนั่นเป็นเพราะว่า ลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อย จะไม่แสดงอาการใดๆ เลย ในระยะแรก จนกว่าหัวใจไม่สามารถทนรับกับ ปริมาณเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เช่น หัวใจเต้นไว หอบ เหนื่อยง่าย ใครที่มีอาการดังกล่าว จึงควรหาเวลาไปตรวจสุขภาพร่างกาย ประจำปีบ้าง เพื่อจะได้รู้เท่ากันโรค


ลิ้นหัวใจก็คือส่วนหนึ่งของหัวใจคนเรา ทำหน้าที่เสมือนประตู ที่กั้นไม่ให้เลือดที่อยู่ในห้องหัวใจทั้ง 4 ห้องไหลย้อนกลับ ในขณะที่หัวใจกำลังทำการบีบตัว ฉะนั้นแล้วลิ้นหัวใจ จึงทำหน้าที่คล้ายกับวาล์ว คอยปิด-เปิด อยู่ระหว่างห้องหัวใจของเราตั้งแต่เกิด ซึ่งลิ้นหัวใจแบ่งอยู่ 4 ตำแหน่ง คือ
1.ไตรคัสปิด (Tricuspid) อยู่ระหว่าหัวใจห้องขวาบนและล่าง
2.พูลโมนารี่ (Pulmonary) อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างกับหลอดเลือดแดงที่ไปปอด
3.ไมตรัล (Mitral) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง
4.เอออร์ติค (Aortic) อยู่ระหว่างหัวใจห้องซ้ายล่างกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงร่างกาย

ลักษณะของลิ้นหัวใจประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อเป็นแผ่น บางหรือหนา และจำนวนแผ่นเนื้อเยื่อจะขึ้นกับตำแหน่งของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจไมทรัล ซึ่งเป็นลิ้นที่มีความสำคัญมากลิ้นหนึ่งประกอบไปด้วยแผ่น (leaflet) 2 แผ่น เป็นรูปคล้ายอานม้า หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนของลิ้นเอออร์ติค เป็นจะแผ่นรูปเสี้ยงวงกลมบางๆ จำนวน 3 แผ่น เป็นต้น แผ่นเหล่านี้ดูเหมือนอ่อนแอ ขาดง่าย แต่ความเป็นจริงแล้วมีความแข็งแรงมาก

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว
1.ลิ้นหัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
2.ลิ้นหัวใจเสื่อมตามวัย
3.โรคหัวใจรูห์มาติค
4.ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ

การรักษา
อย่างที่กล่าวว่าลิ้นหัวใจของคนเราก็เปรียบเสมือนวาล์ว ที่คอยปิด-เปิด หากทำงานผิดปกติ ไม่สามารถปิด หรือเปิดได้ตามปกติแล้ว จะแก้ไขด้วยการเปลี่ยน หรือหยอดน้ำมันลงไป คงไม่ง่ายดายนัก เพราะหากลิ้นหัวใจเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว แพทย์ต้องทำการวินิจฉัยดูก่อนว่า ลิ้นหัวใจเสียขนาดไหน และจะต้องติดตามดูอาการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมว่าควรจะผ่าตัดซ่อมแซม หรือจะผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว
หากลิ้นหัวใจรั่วไม่มากก็สามารถมีกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ ส่วนถ้ารั่วมาก มักจะมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งก็ถูกจำกัดกิจกรรมต่างๆ ไปโดยปริยาย หัวใจท่านอ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นท่านต้องทะนุถนอมหัวใจท่านให้มากๆ ไม่ทำร้ายหัวใจด้วย อาหารเค็ม บุหรี่ อาหาร ไขมันสูง เหล้า-เบียร์-ไวน์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแย่ลง

สิ่งสำคัญประการหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ คือ ต้องระวังการติดเชื้อ ดังนั้นหากจะทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือ ทำผ่าตัดใดๆ ก็ต้องบอกแพทย์ให้ทราบด้วย เพื่อให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อน

หากท่านมีปัญหาสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ หรือ มีลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ไม่เคยตรวจสุขภาพเลย (เพราะคิดว่าแข็งแรง ไม่มีอาการ) อยากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ก่อนที่จะสายเกินแก้


ศูนย์หัวใจพญาไท โรงพยาบาลพญาไท โทร.1772
ขอบคุณภาพจาก www.cbc.ca
http://www.phyathai.com

โรคหลอดเลือดสมอง

จากรายงานผลการศึกษาภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ.2547 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรกของผู้หญิงไทย และคิดเป็น 15% ของการเสียชีวิต ในผู้ชายพบบ่อยเป็นอันดับสองรองมาจากโรคเอดส์และคิดเป็น 10% ของการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความพิการซึ่งมีผลต่อการทำงาน และการดูแลตนเองคิดเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงและอันดับ 3 ในผู้ชาย

อุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนไทยประมาณ 250 รายต่อประชากร 100,000 คนซึ่งคำนวณได้ว่าน่าจะมีคนไทย เป็นโรคหลอดเลือดสมองปีละ 150,000 รายหรือคนไทยเป็นโรคนี้ 1 รายทุกๆ 4 นาที และเสียชีวิต 1 รายทุก 10 นาที

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงสมอง มีความผิดปกติซึ่งมี 2 ชนิดคือหลอดเลือดสมองอุดตันและหลอดเลือดสมองแตก ทำให้สมองหยุดทำงานไปอย่างเฉียบพลัน จากการที่สมองไม่มีเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกแทรกทับในเนื้อสมอง

70% ของโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ

1. การอุดตันของหลอดเลือดจากการเสื่อมหรือการแข็งตัวของหลอดเลือด เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอุดตันที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูงอายุ ความดันเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ หรือไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างเดียวหรือหลายอย่างในคนเดียวกันก็ได้

2. ก้อนเลือดจากหัวใจ หรือตะกอนเลือดจากผนังหลอดเลือดแดงที่คอด้านหน้าหลุดเข้าอุดตันหลอดเลือดในสมองสาเหตุของก้อนเลือดจากหัวใจหลุดเข้าสมอง มักเกิดในคนที่มีการเต้นหัวใจไม่สม่ำเสมอ ชนิดหัวใจห้องซ้ายบนเต้นพริ้ว (atrial fibrillation หรือ AF) การเต้นของหัวใจที่บีบตัวไม่พร้อมกันทั้งห้อง ทำให้มีเลือดค้างในห้องหัวใจ เลือดจะเกิดการแข็งตัวเป็นก้อนเลือดขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ในวันที่เกิดอาการ เกิดจากก้อนเลือดหลุดออกไปที่หัวใจห้องซ้ายล่าง แล้วออกต่อไปที่หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลุดเข้าไปในสมอง เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กกว่าก้อนเลือด ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง นอกจากนี้ตะกอนเลือดที่อยู่ที่ผิวของ plaque ในผนังหลอดเลือดใหญ่ที่คอ สามารถหลุดเข้าไปติดในหลอดเลือดสมอง จากแรงของเลือดที่ไหลเร็วกว่าปกติบริเวณที่หลอดเลือดคอตีบ ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในสมองได้เช่นกัน

3. ความดันเลือดลดลงมาก จนไปเลี้ยงสมองไม่ทันเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่า 1% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด สาเหตุของความดันเลือดที่ลดลง ได้แก่ 3.1 หัวใจหยุดเต้นจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองหรือเรียกว่า Heart attack เมื่อกู้ชีพมาได้หลังจากหัวใจหยุดทำงานไปนาน ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เมื่อหัวใจกลับมาเต้นใหม่ แต่สมองขาดเลือดนานเกินไป ก็ไม่สามารถกลับมาทำงานใหม่ได้ 3.2 ความดันเลือดตกมากในผู้ป่วยติดเชื้อเข้ากระแสเลือดที่เรียกว่าภาวะช็อค (shock) 3.3 การกินยาลดความดันเกินขนาด ทำให้ความดันเลือดต่ำจนไม่สามารถเลี้ยงสมองได้พอ 3.4 ความดันต่ำจากการเปลี่ยนท่า จากท่านอนหรือนั่งเป็นท่ายืนเร็วเกินไป มักพบในคนสูงอายุที่กินยาลดความอ้วน หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานาน และมีการเสื่อมของประสาทส่วนปลายร่วมด้วย


อีก 30% เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก แบ่งได้เป็น 2 ชนิด

1. เลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrage หรือ ICH) เกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กมากเทาเส้นผมหรือเล็กกว่า เกิดการโป่งพอง หรือผนังหลอดเลือดเองเปราะบางจากอายุที่มาก เกิดการแตกทำให้เลือดออกในเนื้อสมองขนาดเท่าเม็กถั่วจนอาจจะใหญ่เท่าผลส้มลูกใหญ่ได้ ผู้ป่วยเหล่านี้จะเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดศรีษะรุนแรง อาเจียนหรือหมดสติได้ ในรายที่ก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ สาเหตุที่พบได้แก่

1.1 ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ คนสูงอายุ มีความดันสูงมานาน เบาหวาน ดื่มเหล้าเบียร์มาก เครียดมาก
1.2 ผู้ป่วยสูงอายุและมีผนังหลอดเลือดเปราะ (amyloid angiopathy)

1.3 ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดพิการแต่กำเนิด ซึ่งมีหลอดเลือดขดไปมาจำนวนมากและขนาดใหญ่กว่าปกติ (arteriovenous malformation หรือ AVM)

2. เลือดออกที่ผิวสมอง (Subarachnoid hemorrhage หรือ SAH) เกิดจาก หลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ฐานสมอง ซึ่งมีขนาดประมาณไส้ปากกาลูกลื่นถึงขนาดหลอดดูดกาแฟขนาดเล็ก เกิดการโป่งพองและค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดบางมากแล้วแตกออก เลือดที่ออกมักมีจำนวนมากและกระจายไปทั่วผิวสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศรีษะมาก อาเจียน ถ้าเป็นมากอาจหมดสติหรือเสียชีวิตได้ สาเหตุที่พบ ได้แก่

2.1 ผู้ป่วยที่มีผนังหลอดเลือดใหญ่ที่ฐานสมองไม่แข็งแรงร่วมกับมีความดันสูงมานาน ความดันสูงนี้จะค่อยๆ ดันให้ผนังหลอดเลือดโตเป็นกระเปาะ โตขึ้นเรื่อยๆ ผนังหลอดเลือดบางลงเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะแตกออก

2.2 หลอดเลือดพอการแต่กำเนิดที่มีจำนวนมาก ขดไปมาและขนาดใหญ่กว่าปกติ (AVM) บริเวณผิวสมอง ซึ่งเป็นตั้งแต่กำเนิด เมื่อโตขึ้นจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและแตกได้ในที่สุด

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
สมองแต่ละส่วนมีหน้าที่ของตนเอง ถ้าสมองส่วนใดก็ตามขาดเลือดไปเลี้ยงจากการที่หลอดเลือดอุดตัน หรือมีเลือดออกคั่งในสมองทำให้สมองส่วนนั้นๆ หยุดการทำงานไป ทำให้เกิดอาการตามส่วนของสมองที่เกิดปัญหา สมองมีส่วนต่างๆ ที่สำคัญดังนี้

1. สมองใหญ่ (Cerebrum) อยู่ด้านบนสุดและมีขนาดใหญ่สุด แบ่งได้เป็น 5 ส่วน

1.1 สมองใหญ่ส่วนหน้า (Frontal lobe) ทำหน้าที่สั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหวโดยสมองข้างขวาสั่งให้ร่างกายซีกซ้ายเคลื่อนไหว และสมองข้างซ้ายสั่งให้ร่างกายซีกขวาเคลื่อนไหว ถ้าสมองส่วนนี้หรือเส้นประสาทที่ส่งต่อเนื่องไปยังร่างกายเสียหายหรือหยุดทำงาน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงด้านตรงข้ามรวมทั้งใบหน้าด้านตรงข้ามจะเบี้ยวไปด้วย ถ้าเป็นมาก ขยับไม่ได้เลย เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก ถ้าพอขยับหรือยกแขนขาได้เรียกว่า อัมพฤกษ์ นอกจากนี้มีส่วนของการสั่งให้พูด (Broca area) อยู่ด้านล่างของสมองส่วนหน้าข้างซ้าย (เป็นสมองข้างที่เด่นซึ่งในคนมักเป็นข้างซ้าย) ถ้าสมองส่วนนี้เสียไปผู้ป่วยพูดไม่ได้หรือถ้าเป็นไม่มาก ผู้ป่วยอาจพูดได้บางคำและพูดต่อเป็นประโยคไม่ได้
1.2 สมองใหญ่ส่วนข้าง (Parietal lobe) มีหน้าที่รับรู้การสัมผัส การเจ็บร้อนเย็น จากร่างกายซีกด้านตรงข้าม ถ้าผิดปกติจะมีการชาด้านตรงข้ามกับสมองที่มีปัญหา
1.3 สมองใหญ่ส่วนขมับ (Temporal lobe) มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับความจำ แต่มีส่วนที่สำคัญจุดหนึ่งทำหน้าที่แปลเสียงที่ได้ยิน เป็นภาษาและต้องอยู่ในสมองข้างที่เด่น (ข้างซ้าย) ถ้าสมองส่วนนี้เสีย ผู้ป่วยจะไม่เข้าใจเสียงที่ได้ยินว่าแปลว่าอะไร ทั้งที่เป็นภาษาไทยที่เคยรู้มาก่อน
1.4 สมองใหญ่ส่วนท้ายทอย (Occipital lobe) มีหน้าที่สำคัญคือการรับภาพที่ส่งมาทางตา ถ้าสมองส่วนนี้เสีย ผู้ป่วยจะมองไม่เห็นครึ่งซีกของลานสายตาของแต่ละตา ถ้าทดสอบโดยการผิดตา เมื่อเปิดตาพร้อมกันสองข้างผู้ป่วยจะมองไม่เห็นครึ่งซีกด้านตรงข้ามกับสมองที่เสีย
1.5 สมองใหญ่ส่วนใน (Insular lobe) มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมประสาทอัตโนมัติ ไม่มีความสำคัญในเรื่องของโรคหลอดเลือดสมอง

2. แกนสมอง (Brain stem) เป็นส่วนของสมองที่สายใยประสาทจากสมองลงมาไขสันหลังและจากไขสันหลังขึ้นไปยังสมอง และควบคุมการทำงานของเส้นประสาทสมองจำนวน 12 คู่ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานการทรงตัวกับสมองเล็ก ถ้ามีความผิดปกติ มีการอ่อนแรงของแขนขา การชา เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด เดินเซ กินแล้วสำลัก เวียนศรีษะบ้านหมุน ถ้าเป็นมากอาจหมดสติโดยไม่รู้ตัว
3. สมองเล็ก (Cerebellum) อยู่ด้านหลังสุดทำหน้าที่ประสานสมองส่วนต่างๆ ทำงานสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะด้านการเคลื่อนไหว ถ้าสมองส่วนนี้เสียการทำหน้าที่ จะทำให้มีอาการเวียนศรีษะบ้านหมุน เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ พูดไม่ชัด แต่ไม่มีอาการอ่อนแรง
ผู้ป่วยอาจมีอาการเดียวหรือหลายๆ อาการรวมกันได้ เช่นบางคนมีอ่อนแรงอย่างเดียว ชาครึ่งซีกอย่างเดียว บางคนอาจจะมีการอ่อนแรงครึ่งซีก ร่วมกับพูดไม่ชัด รับประทานอาการสำลัก และเดินเซ

ผู้ป่วยที่มีอาการมากมักเกิดจากหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน หรือมีเลือดออกในสมองขนาดใหญ่ (ใหญ่กว่าอีกปิงปอง) ผู้ป่วยที่มีเลือดออกที่ผิวสมองมักมีอาการปวดหัวรุนแรงและซึมลง โดยที่ไม่มีอาการอ่อนแรงก็ได้ ไม่มีอะไรมาเตือนก่อนล่วงหน้า
ที่สำคัญมากคือ ผู้ป่วยทั้งหมดจะมีอาการที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันทั้งสิ้น

อาการสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง

1.หน้าเบี้ยวหรือปากเบี้ยว (Face)
2.แขนขาไม่มีแรง (Arm)
3.พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ หรือพูดไม่ออกเลย (Speech)
- อาการทุกข้อเกิดขึ้นทันที อย่างเฉียบพลัน
- เมื่อเกิดอาการใดอาการหนึ่งหรือเกิดหลายอาการในคนเดียวกัน ต้องไม่รอช้าให้รีบไปโรงพยาบาลทันที (Time)
- เมื่อนำคำหน้าในภาษาอังกฤษมาเรียงกันทำให้จำง่ายขึ้น คือ FAST



บทความโดยนพ.สุรัตน์ บุญญะการกุล / นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา
ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 โทร.0-2640-1111
http://www.phyathai.com