วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคหลอดเลือดสมอง

จากรายงานผลการศึกษาภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ.2547 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรกของผู้หญิงไทย และคิดเป็น 15% ของการเสียชีวิต ในผู้ชายพบบ่อยเป็นอันดับสองรองมาจากโรคเอดส์และคิดเป็น 10% ของการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความพิการซึ่งมีผลต่อการทำงาน และการดูแลตนเองคิดเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงและอันดับ 3 ในผู้ชาย

อุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนไทยประมาณ 250 รายต่อประชากร 100,000 คนซึ่งคำนวณได้ว่าน่าจะมีคนไทย เป็นโรคหลอดเลือดสมองปีละ 150,000 รายหรือคนไทยเป็นโรคนี้ 1 รายทุกๆ 4 นาที และเสียชีวิต 1 รายทุก 10 นาที

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงสมอง มีความผิดปกติซึ่งมี 2 ชนิดคือหลอดเลือดสมองอุดตันและหลอดเลือดสมองแตก ทำให้สมองหยุดทำงานไปอย่างเฉียบพลัน จากการที่สมองไม่มีเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกแทรกทับในเนื้อสมอง

70% ของโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ

1. การอุดตันของหลอดเลือดจากการเสื่อมหรือการแข็งตัวของหลอดเลือด เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอุดตันที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูงอายุ ความดันเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ หรือไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างเดียวหรือหลายอย่างในคนเดียวกันก็ได้

2. ก้อนเลือดจากหัวใจ หรือตะกอนเลือดจากผนังหลอดเลือดแดงที่คอด้านหน้าหลุดเข้าอุดตันหลอดเลือดในสมองสาเหตุของก้อนเลือดจากหัวใจหลุดเข้าสมอง มักเกิดในคนที่มีการเต้นหัวใจไม่สม่ำเสมอ ชนิดหัวใจห้องซ้ายบนเต้นพริ้ว (atrial fibrillation หรือ AF) การเต้นของหัวใจที่บีบตัวไม่พร้อมกันทั้งห้อง ทำให้มีเลือดค้างในห้องหัวใจ เลือดจะเกิดการแข็งตัวเป็นก้อนเลือดขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง ในวันที่เกิดอาการ เกิดจากก้อนเลือดหลุดออกไปที่หัวใจห้องซ้ายล่าง แล้วออกต่อไปที่หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลุดเข้าไปในสมอง เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กกว่าก้อนเลือด ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง นอกจากนี้ตะกอนเลือดที่อยู่ที่ผิวของ plaque ในผนังหลอดเลือดใหญ่ที่คอ สามารถหลุดเข้าไปติดในหลอดเลือดสมอง จากแรงของเลือดที่ไหลเร็วกว่าปกติบริเวณที่หลอดเลือดคอตีบ ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดในสมองได้เช่นกัน

3. ความดันเลือดลดลงมาก จนไปเลี้ยงสมองไม่ทันเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่า 1% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด สาเหตุของความดันเลือดที่ลดลง ได้แก่ 3.1 หัวใจหยุดเต้นจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองหรือเรียกว่า Heart attack เมื่อกู้ชีพมาได้หลังจากหัวใจหยุดทำงานไปนาน ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เมื่อหัวใจกลับมาเต้นใหม่ แต่สมองขาดเลือดนานเกินไป ก็ไม่สามารถกลับมาทำงานใหม่ได้ 3.2 ความดันเลือดตกมากในผู้ป่วยติดเชื้อเข้ากระแสเลือดที่เรียกว่าภาวะช็อค (shock) 3.3 การกินยาลดความดันเกินขนาด ทำให้ความดันเลือดต่ำจนไม่สามารถเลี้ยงสมองได้พอ 3.4 ความดันต่ำจากการเปลี่ยนท่า จากท่านอนหรือนั่งเป็นท่ายืนเร็วเกินไป มักพบในคนสูงอายุที่กินยาลดความอ้วน หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานาน และมีการเสื่อมของประสาทส่วนปลายร่วมด้วย


อีก 30% เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก แบ่งได้เป็น 2 ชนิด

1. เลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrage หรือ ICH) เกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กมากเทาเส้นผมหรือเล็กกว่า เกิดการโป่งพอง หรือผนังหลอดเลือดเองเปราะบางจากอายุที่มาก เกิดการแตกทำให้เลือดออกในเนื้อสมองขนาดเท่าเม็กถั่วจนอาจจะใหญ่เท่าผลส้มลูกใหญ่ได้ ผู้ป่วยเหล่านี้จะเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดศรีษะรุนแรง อาเจียนหรือหมดสติได้ ในรายที่ก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ สาเหตุที่พบได้แก่

1.1 ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ คนสูงอายุ มีความดันสูงมานาน เบาหวาน ดื่มเหล้าเบียร์มาก เครียดมาก
1.2 ผู้ป่วยสูงอายุและมีผนังหลอดเลือดเปราะ (amyloid angiopathy)

1.3 ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดพิการแต่กำเนิด ซึ่งมีหลอดเลือดขดไปมาจำนวนมากและขนาดใหญ่กว่าปกติ (arteriovenous malformation หรือ AVM)

2. เลือดออกที่ผิวสมอง (Subarachnoid hemorrhage หรือ SAH) เกิดจาก หลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ฐานสมอง ซึ่งมีขนาดประมาณไส้ปากกาลูกลื่นถึงขนาดหลอดดูดกาแฟขนาดเล็ก เกิดการโป่งพองและค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดบางมากแล้วแตกออก เลือดที่ออกมักมีจำนวนมากและกระจายไปทั่วผิวสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศรีษะมาก อาเจียน ถ้าเป็นมากอาจหมดสติหรือเสียชีวิตได้ สาเหตุที่พบ ได้แก่

2.1 ผู้ป่วยที่มีผนังหลอดเลือดใหญ่ที่ฐานสมองไม่แข็งแรงร่วมกับมีความดันสูงมานาน ความดันสูงนี้จะค่อยๆ ดันให้ผนังหลอดเลือดโตเป็นกระเปาะ โตขึ้นเรื่อยๆ ผนังหลอดเลือดบางลงเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะแตกออก

2.2 หลอดเลือดพอการแต่กำเนิดที่มีจำนวนมาก ขดไปมาและขนาดใหญ่กว่าปกติ (AVM) บริเวณผิวสมอง ซึ่งเป็นตั้งแต่กำเนิด เมื่อโตขึ้นจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและแตกได้ในที่สุด

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง
สมองแต่ละส่วนมีหน้าที่ของตนเอง ถ้าสมองส่วนใดก็ตามขาดเลือดไปเลี้ยงจากการที่หลอดเลือดอุดตัน หรือมีเลือดออกคั่งในสมองทำให้สมองส่วนนั้นๆ หยุดการทำงานไป ทำให้เกิดอาการตามส่วนของสมองที่เกิดปัญหา สมองมีส่วนต่างๆ ที่สำคัญดังนี้

1. สมองใหญ่ (Cerebrum) อยู่ด้านบนสุดและมีขนาดใหญ่สุด แบ่งได้เป็น 5 ส่วน

1.1 สมองใหญ่ส่วนหน้า (Frontal lobe) ทำหน้าที่สั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหวโดยสมองข้างขวาสั่งให้ร่างกายซีกซ้ายเคลื่อนไหว และสมองข้างซ้ายสั่งให้ร่างกายซีกขวาเคลื่อนไหว ถ้าสมองส่วนนี้หรือเส้นประสาทที่ส่งต่อเนื่องไปยังร่างกายเสียหายหรือหยุดทำงาน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงด้านตรงข้ามรวมทั้งใบหน้าด้านตรงข้ามจะเบี้ยวไปด้วย ถ้าเป็นมาก ขยับไม่ได้เลย เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก ถ้าพอขยับหรือยกแขนขาได้เรียกว่า อัมพฤกษ์ นอกจากนี้มีส่วนของการสั่งให้พูด (Broca area) อยู่ด้านล่างของสมองส่วนหน้าข้างซ้าย (เป็นสมองข้างที่เด่นซึ่งในคนมักเป็นข้างซ้าย) ถ้าสมองส่วนนี้เสียไปผู้ป่วยพูดไม่ได้หรือถ้าเป็นไม่มาก ผู้ป่วยอาจพูดได้บางคำและพูดต่อเป็นประโยคไม่ได้
1.2 สมองใหญ่ส่วนข้าง (Parietal lobe) มีหน้าที่รับรู้การสัมผัส การเจ็บร้อนเย็น จากร่างกายซีกด้านตรงข้าม ถ้าผิดปกติจะมีการชาด้านตรงข้ามกับสมองที่มีปัญหา
1.3 สมองใหญ่ส่วนขมับ (Temporal lobe) มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับความจำ แต่มีส่วนที่สำคัญจุดหนึ่งทำหน้าที่แปลเสียงที่ได้ยิน เป็นภาษาและต้องอยู่ในสมองข้างที่เด่น (ข้างซ้าย) ถ้าสมองส่วนนี้เสีย ผู้ป่วยจะไม่เข้าใจเสียงที่ได้ยินว่าแปลว่าอะไร ทั้งที่เป็นภาษาไทยที่เคยรู้มาก่อน
1.4 สมองใหญ่ส่วนท้ายทอย (Occipital lobe) มีหน้าที่สำคัญคือการรับภาพที่ส่งมาทางตา ถ้าสมองส่วนนี้เสีย ผู้ป่วยจะมองไม่เห็นครึ่งซีกของลานสายตาของแต่ละตา ถ้าทดสอบโดยการผิดตา เมื่อเปิดตาพร้อมกันสองข้างผู้ป่วยจะมองไม่เห็นครึ่งซีกด้านตรงข้ามกับสมองที่เสีย
1.5 สมองใหญ่ส่วนใน (Insular lobe) มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมประสาทอัตโนมัติ ไม่มีความสำคัญในเรื่องของโรคหลอดเลือดสมอง

2. แกนสมอง (Brain stem) เป็นส่วนของสมองที่สายใยประสาทจากสมองลงมาไขสันหลังและจากไขสันหลังขึ้นไปยังสมอง และควบคุมการทำงานของเส้นประสาทสมองจำนวน 12 คู่ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานการทรงตัวกับสมองเล็ก ถ้ามีความผิดปกติ มีการอ่อนแรงของแขนขา การชา เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด เดินเซ กินแล้วสำลัก เวียนศรีษะบ้านหมุน ถ้าเป็นมากอาจหมดสติโดยไม่รู้ตัว
3. สมองเล็ก (Cerebellum) อยู่ด้านหลังสุดทำหน้าที่ประสานสมองส่วนต่างๆ ทำงานสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะด้านการเคลื่อนไหว ถ้าสมองส่วนนี้เสียการทำหน้าที่ จะทำให้มีอาการเวียนศรีษะบ้านหมุน เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ พูดไม่ชัด แต่ไม่มีอาการอ่อนแรง
ผู้ป่วยอาจมีอาการเดียวหรือหลายๆ อาการรวมกันได้ เช่นบางคนมีอ่อนแรงอย่างเดียว ชาครึ่งซีกอย่างเดียว บางคนอาจจะมีการอ่อนแรงครึ่งซีก ร่วมกับพูดไม่ชัด รับประทานอาการสำลัก และเดินเซ

ผู้ป่วยที่มีอาการมากมักเกิดจากหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่อุดตัน หรือมีเลือดออกในสมองขนาดใหญ่ (ใหญ่กว่าอีกปิงปอง) ผู้ป่วยที่มีเลือดออกที่ผิวสมองมักมีอาการปวดหัวรุนแรงและซึมลง โดยที่ไม่มีอาการอ่อนแรงก็ได้ ไม่มีอะไรมาเตือนก่อนล่วงหน้า
ที่สำคัญมากคือ ผู้ป่วยทั้งหมดจะมีอาการที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันทั้งสิ้น

อาการสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง

1.หน้าเบี้ยวหรือปากเบี้ยว (Face)
2.แขนขาไม่มีแรง (Arm)
3.พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ หรือพูดไม่ออกเลย (Speech)
- อาการทุกข้อเกิดขึ้นทันที อย่างเฉียบพลัน
- เมื่อเกิดอาการใดอาการหนึ่งหรือเกิดหลายอาการในคนเดียวกัน ต้องไม่รอช้าให้รีบไปโรงพยาบาลทันที (Time)
- เมื่อนำคำหน้าในภาษาอังกฤษมาเรียงกันทำให้จำง่ายขึ้น คือ FAST



บทความโดยนพ.สุรัตน์ บุญญะการกุล / นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา
ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 โทร.0-2640-1111
http://www.phyathai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น